สืบเนื่องจากกรณีที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยประกาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563 ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เป็นต้นไป ข้อ 3 แบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรมี 2 แบบ คือ (1) แบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร สำหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ มีขนาดกว้าง 14.5 เซนติเมตร ยาว 27 เซนติเมตร และมีรายละเอียดเป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้
(2) แบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร สำหรับส่งทางไปรษณีย์ มีขนาดกว้าง 21 เซนติเมตร ยาว 29.7 เซนติเมตร และมีรายละเอียดเป็นไปตามแบบแนบท้ายประกาศนี้
ขณะเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิด ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ. 2563 โดยที่เป็นการสมควรกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ สำหรับความผิดที่ผู้ขับขี่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 และเจ้าพนักงานจราจรได้ออกใบสั่งให้แก่ผู้ขับขี่นั้น
ข้อ 3 กำหนดจำนวนค่าปรับเกี่ยวกับความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมเป็นไปตามบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ จำนวน 155 ข้อ ทั้งนี้ ค่าปรับตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก อยู่ระหว่าง 200-1,000 บาท
ล่าสุด พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วย ผบ.ตร. เป็นประธานการประชุมฯ ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 2 อาคาร 1 ตร. ด้วยเมื่อวันที่ 25 ส.ค.63 ได้มีราชกิจจานุเบกษา ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ.2563โดยประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.63 เป็นต้นไป และ ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบ สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 พ.ศ.2563 และประกาศนี้ ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศ คือ เริ่มใช้ 26 ส.ค.63 เป็นต้นไป
ตามนโยบายของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้รับผิดชอบงานด้านการจราจรโดยรวมทั้งหมด ภายใต้วิสัยทัศน์ เป็นหลักประกันความยุติธรรม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่มีมาตรฐานสากล ซึ่งได้มีการสรุปหลักการใบสั่งจราจรใหม่ และเกณฑ์กำหนดค่ารับตามที่เปรียบเทียบฉบับใหม่ขึ้น
- ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดแบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจร พ.ศ. 2563
ตามที่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 20 พ.ค.62 ที่ผ่านมา และมีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักกฎหมายจราจรหลายประการ เช่น การยกเลิกการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ขณะออกใบสั่ง ยกเลิกเรื่องการใช้ใบสั่งเป็นใบรับแทนใบอนุญาตขับขี่ ให้มีระบบตัดคะแนนความประพฤติ เพิ่มเติมช่องทางชำระค่าปรับให้ประชาชนสามารถชำระค่าปรับได้ที่สถานีตำรวจทุกท้องที่ ตลอดจนเพิ่มเติมเรื่องบทสันนิษฐานของเจ้าของรถ/ผู้ครอบครองรถ ที่เป็นบุคคลธรรมดา ให้ถือว่าเป็นผู้กระทำผิดตามใบสั่ง และ เพิ่มเติมเรื่องหน้าที่เจ้าของ/ผู้ครอบครองที่เป็นนิติบุคคล ว่ามีหน้าที่ต้องแจ้งต่อพนักงานสอบสวนว่าใครเป็นผู้ขับขี่ที่กระทำผิดตามใบสั่ง จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อความในแบบพิมพ์ใบสั่งใหม่ให้สอดคล้อง กับหลักกฎหมายจราจรที่แก้ไขข้างต้น
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้ คณะทำงานพิจารณายกร่างและแก้ไขกฎหมายลำดับรองกฎหมายจราจร (ตามคำสั่ง ตร.ที่ 241/2562) ซึ่งมี พล.ต.ท.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน เป็นผู้แก้ไขใบสั่งรูปแบบใหม่ดังกล่าว และต่อมาได้ดำเนินการออกประกาศแบบใบสั่งใหม่ โดยแก้ไขข้อความในใบสั่งจำนวน 2 รูปแบบได้แก่ แบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสาหรับให้กับผู้ขับขี่ ติด ผูก หรือแสดงไว้ที่รถ (ใบสั่งที่เจ้าพนักงานจราจรพบการกระทำผิดด้วยตนเอง และเขียนใบสั่งด้วยมือ)
1.2 แบบใบสั่งเจ้าพนักงานจราจรสำหรับส่งทางไปรษณีย์ (ใบสั่งที่เจ้าพนักงานจราจรพบโดยใช้เครื่องอุปกรณ์ เช่น กล้อง)
** ทั้งนี้ ใบสั่งรูปแบบใหม่ จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.63 เป็นต้นไป สำหรับใบสั่งแบบเดิม จะยังคงใช้ได้ต่อไปจนถึงวันที่ 31 ต.ค.63 **
- ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 พ.ศ.2563เกณฑ์การกำหนดจำนวนค่าปรับตามที่เปรียบเทียบสำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เดิมมีประกาศฉบับปี พ.ศ.2559 บังคับใช้อยู่แล้ว เพื่อเป็นเกณฑ์ค่าปรับสำหรับวิธีการชำระค่าปรับด้วยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต ผ่านธนาคารหรือหน่วยบริการรับชำระเงิน แต่เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ.2562 และมีการเพิ่มเติมข้อหาความผิดบางข้อหา ในกฎหมายใหม่ จึงจำเป็นต้องปรับปรุงเกณฑ์ค่าปรับให้สอดคล้องกับกฎหมายที่แก้ไข ได้แก่ มาตรา 31/1 “ในขณะขับรถในทางเดินรถ ผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวและไม่อาจแสดงต่อเจ้าพนักงานจราจรเมื่อขอตรวจ” (อัตราโทษตามกฎหมายปรับไม่เกิน 1,000 บาท)
– ส่วนข้อหาความผิดอื่นยังคงกำหนดเกณฑ์ค่าปรับตามประกาศฉบับเมื่อปี พ.ศ.2559 ตามเดิม ซึ่งข้อหาส่วนใหญ่จะกำหนดเกณฑ์ค่าปรับ ในอัตราที่ต่ำกว่าค่าปรับขั้นสูงที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ กำหนดโทษค่าปรับไม่เกิน 1,000 บาท ประกาศของ ตร. จะกำหนดเกณฑ์ค่าปรับที่ 500 บาท เป็นต้น
เกณฑ์การกำหนดค่าปรับตามที่เปรียบเทียบในประกาศนี้ มีวัตถุประสงค์ใช้เป็นเกณฑ์ค่าปรับ
1) สำหรับการชำระค่าปรับด้วยวิธีการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ บัตรเครดิต ผ่านธนาคารหรือหน่วยบริการรับชำระเงินรวมถึง
2) สำหรับการชำระค่าปรับทางไปรษณีย์ (ธนาณัติหรือตั๋วแลกเงิน)
3) สำหรับการชำระค่าปรับที่สถานีตำรวจอื่นๆทุกท้องที่
( ยกเว้นสถานีตำรวจผู้ออกใบสั่ง ยังคงมีอำนาจว่ากล่าวตักเตือน หรือเปรียบเทียบปรับในอัตราที่ต่างจากประกาศฉบับนี้ได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราโทษปรับที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ )
ตัวอย่างข้อหาสำคัญ ได้แก่
– #ไม่มีใบอนุญาตขับขี่อยู่กับตัวหรือไม่อาจแสดงต่อเจ้าพนักงานเมื่อขอตรวจ (เพิ่มใหม่ ตาม ม.31/1) เกณฑ์ค่าปรับ 200 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
– #ไม่สวมหมวกนิรภัย เกณฑ์ค่าปรับ 400 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 500 บาท
– #จอดรถในที่ห้ามจอด เกณฑ์ค่าปรับ 400 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 500 บาท
– #ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด เกณฑ์ค่าปรับ 500 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
– #ฝ่าไฟแดง เกณฑ์ค่าปรับ 500 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
– #ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรที่ปรากฏในทาง (เช่น Lane Change) เกณฑ์ค่าปรับ 500 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
– #ใช้โทรศัพท์ในขณะขับรถ เกณฑ์ค่าปรับ 500 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 400-1,000 บาท
– #ใช้รถควันดำเกินกำหนด เกณฑ์ค่าปรับ 1,000 บาท อัตราโทษปรับตามกฎหมาย ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
** เกณฑ์ค่าปรับตามประกาศฉบับนี้ เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 26 ส.ค.63 เป็นต้นไป **
จึงขอให้ประชาชนทราบถึงแนวทางการดำเนินการและมาตรการต่างๆ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำมาบังคับใช้เพื่อประโยชน์สุขแก่สังคมโดยรวม
เครดิตข้อมูลข่าวโดย : https://www.thairath.co.th