ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กล่าวว่า ภาควิชาวิศวกรรมการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ สจล. ได้ทำการวิจัยและพัฒนา “ประตูสแกนอุณหภูมิร่างกายมนุษย์แบบเดินผ่าน” (Walk-through body temperature scanner) หรือเครื่องสำหรับสแกนอุณหภูมิร่างกายมนุษย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการเฝ้าระวังและคัดกรองบุคคลหรือผู้ป่วยที่มีไข้สูง ประกอบกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือไวรัสอู่ฮั่น ทาง สจล. คาดว่าเครื่องมือดังกล่าวจะมีส่วนช่วยในการเฝ้าระวังและตรวจจับผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อไวรัสดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง
สำหรับหลักการทำงานของประตูสแกนอุณหภูมิฯ ดังกล่าว อาศัยหลักการทำงานของรังสีอินฟาเรด หรือคลื่นรังสีความร้อน ที่สามารถสแกนอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ในช่วง 30-50 องศาเซลเซียส พร้อมระบบไฟแจ้งเตือนสถานะไฟแดงและไฟเขียว โดยมีความคาดเคลื่อนในการตรวจจับเพียง 5% และยังสามารถรองรับระบบตรวจจับใบหน้าด้วย AI เพื่อเพิ่มความแม่นยำในอนาคต
ส่วนของคุณสมบัติของเครื่องเป็นแบบ Work Station สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวกไปยังพื้นที่ที่ต้องการใช้งาน ด้วยขนาดความสูง 221 เซนติเมตร กว้าง 72 เซนติเมตร ลึก 59 เซนติเมตร ใช้งานผ่านเว็บแอปพลิเคชันควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมโปรแกรมที่ทำงานบนเว็บ โดยตัวเครื่องต้องมีคุณสมบัติดังนี้ จอแสดงผลชนิดสี แบบจอภาพ LCD ขนาดไม่ต่ำกว่า 23 นิ้ว, RAM ไม่น้อยกว่า 4 GB, มีระบบปฏิบัติการไม่น้อยกว่า Window 10 สามารถเชื่อต่อ wifi ได้
ด้าน นายแพทย์ อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณะบดีฝ่ายบริการทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ สจล. กล่าวเสริมว่า เครื่องดังกล่าวจะทำการตรวจจับอุณหภูมิร่างกายเมื่อมีคนเดินผ่านประตู หากพบว่าอุณหภูมิร่างกายของผู้ที่เดินผ่านสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียส เครื่องจะแสดงสถานะไข้ต่ำ หากสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เครื่องจะแสดงสถานะว่าบุคคลคนนั้นมีไข้สูง และหากมีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 41.5 องศาเซลเซียส จะแสดงว่าบุคคลคนนั้นมีสถานะไข้ที่สูงอย่างรุนแรง
โดยปัจจุบันได้ทำการผลิตประตูสแกนอุณหภูมิร่างกายมนุษย์แบบเดินผ่านแล้วเสร็จ จำนวน 3 เครื่อง ภายใต้งบประมาณ 1-1.2 แสนบาท หรือเฉลี่ยเครื่องละ 3-4 หมื่นบาท โดยหนึ่งในนั้นถูกนำไปใช้งานภายพื้นที่ทางเข้าของ คลินิกเวชกรรม สจล. และ อีก 2 เครื่อง ถูกนำไปใช้งานที่โรงพยาบาลสิรินธร เพื่อเฝ้าระวังและคัดกรองผู้มีไข้ เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ซึ่งจากติดตั้งมาได้ระยะหนึ่งแล้วนั้น พบว่าการทำงานของเครื่องเป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบ นายแพทย์ อนวัช กล่าวสรุป
ทั้งนี้ หากมีผู้ที่สนใจในเครื่องมือดังกล่าว ทาง สจล. ก็พร้อมที่จะร่วมมือในการต่อยอดทั้งในด้านวิชาการและเชิงพาณิชย์ ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริหารงานทั่วไปและประชาสัมพันธ์ สจล. โทรศัพท์ 02-329-8111 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/kmitlofficial หรือเว็บไซต์ www.kmitl.ac.th
เครดิตข้อมูลข่าวโดย : https://www.bangkokbiznews.com