fbpx

ขอนแก่น นำร่อง AI ตรวจจับไม่สวมหมวกกันน็อคส่งใบสั่งถึงบ้าน

หลังถนนสายหลักในจังหวัดขอนแก่นติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว เพื่อออกใบสั่งให้กับผู้ที่ใช้ความเร็วเกินกำหนด พบได้ผลจำนวนการเกิดอุบัติเหตุลดลง ล่าสุดพัฒนาเทคโนโลยี AI ตรวจจับผู้ขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกกันน็อค ส่งใบสั่งปรับถึงบ้าน

ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ แทนเกษม ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจร ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เล่าถึงสถานการณ์และจุดเริ่มต้นการดำเนินโครงการลดและป้องกันอุบัติเหตุในเขตเมือง จ.ขอนแก่น ว่า ถนนมิตรภาพช่วงตัดผ่านตัวเมืองจังหวัดขอนแก่น มีปริมาณรถสัญจรไปมาหนาแน่น เนื่องจากเป็นถนนสายหลัก รถจึงใช้ความเร็วสูงเพื่อทำเวลาขับผ่านไปยังจังหวัดใกล้เคียง ขณะเดียวกันถนนมีการเชื่อมต่อเขตชุมชนเมือง ซึ่งผู้ใช้รถส่วนใหญ่ใช้ความเร็วไม่สูงมาก เมื่อมีความต่างของการใช้ความเร็วค่อนข้างมาก อีกทั้งมีจุดตัดระหว่างถนนหลายจุด จึงเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และในหลายกรณีรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต ภายหลังการติดตั้งกล้องและระบบตรวจจับเพื่อกวดขันวินัยจราจร ภาพรวมสถานการณ์อุบัติเหตุและความสูญเสียลดลงอย่างเห็นได้ชัด

ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ กล่าวว่า ระยะแรกทีมงานเครือข่ายจังหวัดขอนแก่น ประกอบด้วย นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานสาธารณสุข หน่วยงานราชการ และภาคประชาสังคม ได้นำเสนอโครงการควบคุมความเร็วโดยใช้กล้องตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ 24 ชั่วโมง โดยของบประมาณสนับสนุนจากมูลนิธิถนนที่ปลอดภัยกว่า : Safer Roads Foundation, SRF ประเทศอังกฤษ ได้รับงบประมานสนับสนุน 17 ล้านบาท นำมาติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็ว และก่อสร้างโครงข่ายติดตั้งกล้องทั้งหมด 4 จุด ครอบคลุมระยะทาง 14 กม. บนถนนมิตรภาพ ช่วงตัดผ่านตัวเมืองขอนแก่น

จากนั้นถัดมาในปี 2560 ได้เสนอโครงการตรวจจับการฝ่าสัญญาณไฟแดงไปยัง SRF อีกครั้ง และได้รับงบประมาณสนับสนุนอีก 12.5 ล้านบาท ในการติดตั้งกล้องเพิ่มใน 3 แยกเสี่ยง ที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากการฝ่าไฟแดง ได้แก่ สามแยกมอดินแดง สี่แยกประตูเมือง และสี่แยกเจริญศรี ไม่เพียงเท่านั้นทีมนักวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังได้พัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สำหรับตรวจจับผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ไม่สวมหมวกนิรภัย และเริ่มตรวจจับออกใบสั่งตั้งแต่ช่วงปลายปี 2560 เป็นต้นมา โดยผลการดำเนินงานพบว่า สามารถลดจำนวนผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรได้อย่างต่อเนื่อง ดังนี้

ขับรถเร็ว : ผู้ใช้ความเร็วเกิน 80 กม./ชม. ลดลงเหลือวันละ 1,500 คัน จากประมาณวันละ 3,000 คัน ส่วนผู้ใช้ความเร็วมากกว่า 100 กม./ชม. ลดลงเหลือวันละ 180 คัน จากประมาณวันละ 400 คัน ฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง : ในช่วงแรกของการตรวจจับ ในเดือน ส.ค. 2560 ทั้งสามแยกไฟแดง มีผู้กระทำผิดทั้งเดือนสูงถึง 1,950 คัน เมื่อระยะเวลาผ่านไป 1 ปี สถิติในเดือน ก.ย. 2561 พบผู้กระทำผิดลดลงมากกว่าครึ่ง เหลือเพียง 895 คัน

ไม่สวมหมวกนิรภัย : เรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะปกติกล้องตรวจจับจะไม่ครอบคลุมถึงผู้ใช้รถจักรยานยนต์ แต่การพัฒนาระบบ AI ดังกล่าว ทำให้ระบบสามารถวิเคราะห์จากภาพที่กล้องบันทึกได้ว่า ผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์ใส่หมวกกันน็อคหรือไม่ ทุกวันนี้ถึงแม้ไม่เจอด่านตรวจอาจได้รับใบสั่งตามมาถึงบ้านได้เช่นเดียวกับผู้ใช้รถยนต์ โดยผลจากการเริ่มใช้มาตรการนี้ พบว่า หลังดำเนินการ 9 เดือน อัตราสวมหมวกกันน็อคในพื้นที่ควบคุมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4 ขณะที่สถิติการบาดเจ็บและเสียชีวิตโดยรวมก็ลดลงมากกว่า ร้อยละ 50 เช่นเดียวกัน

สำหรับหลักการทำงานของระบบตรวจจับการฝ่าฝืนกฎจราจรทั้ง 3 นั้น ผศ.รุจชัย อึ้งอารุณยะวี ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อธิบายว่า ระบบทำงานโดยการส่งภาพถ่ายที่บันทึกได้จากกล้องตามจุดติดตั้ง ส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมซึ่งได้ติดตั้งระบบเซิร์ฟเวอร์ประมวลผล จากนั้นระบบจะทำการวิเคราะห์และส่งข้อมูลมายัง ศูนย์ปฏิบัติการเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งเจ้าพนักงานมีหน้าที่ตรวจสอบความชัดเจนและถูกต้องของข้อมูล และดำเนินการออกใบสั่งตามระเบียบขั้นตอน เนื่องจากระบบนี้พัฒนาขึ้นโดยคนไทย จึงเหมาะสมกับบริบทสภาพพื้นที่และพฤติกรรม การใช้รถใช้ถนนของคนไทย อีกทั้งส่วนของการปรับปรุงแก้ไขหรือปรับแต่งระบบ ก็สามารถทำได้ง่ายใช้งบประมาณน้อย ต่างจากการใช้ระบบของต่างประเทศที่ต้องอาศัยการปรับระบบโดยทีมงานจากประเทศนั้นๆ เชื่อว่าหากในอนาคตมีการขยายพื้นที่ดำเนินการ ติดตั้งระบบนี้ในเส้นทางเสี่ยงหรือครอบคลุมทั่วประเทศ จะสามารถลดอุบัติเหตุและความสูญเสียลงได้

ด้านนายเจษฎา คำผอง วิศวกรวิจัย ภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เสริมว่า ขณะนี้จังหวัดใกล้เคียง เช่น อุดรธานี และอุบลราชธานี มีความสนใจในเทคโนโลยีดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันทีมนักวิจัยได้รับงบประมาณสนับสนุนจาก คณะทำงานสนับสนุนการดำเนินงานป้องกันและ แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด หรือ สอจร. ในการลงพื้นที่ไปอบรมเกี่ยวกับระบบขั้นตอนการทำงานของกล้องตรวจจับพฤติกรรมผู้ใช้รถ ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถนำระบบมาติดตั้งในพื้นที่อื่นได้ง่าย โดยไม่ต้องลงทุนติดตั้งกล้องเพิ่ม ทำได้โดยเชื่อมต่อเข้ากับระบบกล้องเดิม ช่วยประหยัดงบประมาณและกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในการออกไปตั้งด่านตามจุดต่างๆ ได้อีกด้วย

 

 

เครดิตข้อมูลข่าวโดย :  https://www.voicetv.co.th

 

 

Leave a Reply