เทคโนโลยีจดจำใบหน้า “หมู” พลิกโฉมธุรกิจฟาร์มจีน - TT Smart Vision

เทคโนโลยีจดจำใบหน้า “หมู” พลิกโฉมธุรกิจฟาร์มจีน

จีนสุดล้ำ! นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้กับการเลี้ยงหมู ช่วยให้เกษตรกรเฝ้าสังเกตและวิเคราะห์หมูแต่ละตัวได้อย่างใกล้ชิดและลดต้นทุนในการเลี้ยง

************************

โดย…จุฑามาศ เนาวรัตน์

เทคโนโลยี “การจดจำใบหน้า” หรือ Facial Recognition เป็นสิ่งกำลังมาแรงอย่างมากในจีน จนแทบกลายเป็นเรื่องที่คนจีนเริ่มคุ้นชินกันไปแล้ว เพราะทุกภาคส่วนของประเทศไล่มาตั้งแต่ร้านค้าปลีก มหาวิทยาลัย ธนาคาร ไปจนถึงการตรวจจับ หาตัวผู้ร้าย ล้วนมีการนำเทคโนโลยีนี้มาปรับใช้แล้วทั้งสิ้น และล่าสุดจีนกำลังล้ำหน้าไปไกลกว่าหลายประเทศทั่วโลก เมื่อกลุ่มธุรกิจเริ่มหันมาใช้เทคโนโลยีจดจำใบหน้ากับ“หมู”

เซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ รายงานว่า เจดี ไฟแนนซ์ บริษัทด้านการเงินในเครือยักษ์อี-คอมเมิร์ซจีน ได้เปิดตัวเจดีสต๊อกบรีดดิง อินเทลลิเจนต์ โซลูชั่น (JD Stockbreeding Intelligent Solution) หรือโซลูชั่นที่อัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยีอันทันสมัย ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์อัตโนมัติจากกล้อง หุ่นยนต์ และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) ซึ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถยกระดับการเลี้ยงปศุสัตว์ควบคู่ไปกับการลดต้นทุนให้ถูกลง

ปัจจุบัน เจดี ไฟแนนซ์ กำลังทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรจีน และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่งชาติ เพื่อทดสอบโซลูชั่นอัจฉริยะในฟาร์มหมู ด้วยเป้าหมายที่ว่าจะนำเทคโนโลยีไปใช้กับการปศุสัตว์ให้มากขึ้น และปรับวิถีการเกษตรแบบดั้งเดิมให้มีความทันสมัยด้วยดิจิทัล

นับว่าโซลูชั่นนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในอุตสาหกรรมฟาร์มหมู โดยได้รับการพิสูจน์ในทางปฏิบัติแล้วว่าสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงหมูได้มากถึง 30-50% และลดปริมาณอาหารหมูลงได้สูงสุด 10% รวมถึงย่นระยะเวลาการล้มหมูได้ 5-8 วัน ซึ่งโดยรวมแล้วโซลูชั่นนี้ช่วยให้อุตสาหกรรมฟาร์มหมูลดต้นทุนได้สูงสุด 5 หมื่นล้านหยวน (ราว 2.38 แสนล้านบาท)

ทั้งนี้ จีนถือเป็นประเทศที่มีการเลี้ยงหมูมากที่สุดในโลก ตามข้อมูลล่าสุดของ สเตติสดา เว็บไซต์ด้านสถิติ ที่ระบุว่า หมูในจีนมีจำนวนมากกว่า 433 ล้านตัว จากทั่วโลกที่มีทั้งหมด 769 ล้านตัว ในปี 2017 ขณะที่รายงานของธนาคารดีบีเอส คาดการณ์ว่าการบริโภคหมูในจีนจะพุ่งสู่ระดับ 58.1 ล้านตัน ในปี 2021 จากระดับ 54.5 ล้านตัน ในปี 2016

อย่างไรก็ดี หลี่เต้อฝา ศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรจีน ระบุว่า ฟาร์มหมูในจีนมีปัญหาใหญ่คือ ต้นทุนการเลี้ยงหมูที่สูงกว่าในสหรัฐถึง 2 เท่า ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดจากการขาดประสิทธิภาพในการให้อาหารหมู ดังนั้นแล้วการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้จึงนับว่าสร้างประโยชน์ที่แท้จริงให้แก่เกษตรกรหลายร้อยล้านคนในจีน

นอกเหนือจากโซลูชั่นตัวนี้แล้วเจดี ไฟแนนซ์ ยังได้เปิดตัวแบรนด์เจดี ดิจิตส์ (JD Digits) ที่มุ่งเป้าหมายไปที่ธุรกิจใหม่ๆ นอกจากเทคโนโลยีด้านการเงิน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือการเกษตร

เจดี ไฟแนนซ์ เปิดเผยว่า เทคโนโลยีตรวจสอบและวิเคราะห์โดยอัตโนมัติของเจดี ดิจิตส์สามารถติดตามและระบุตัวตนของหมูได้ผ่านกล้องที่ติดอยู่บนหัวของเกษตรกร ซึ่งในระดับพื้นฐานนั้น ระบบสามารถวัดการเติบโตและเฝ้าสังเกตสุขภาพของหมูแต่ละตัวได้ รวมถึงสามารถควบคุมระดับอุณหภูมิในคอกหมูได้

“หากนำเทคโนโลยีนี้มารวมเข้ากับการวิเคราะห์แบบเอไอที่มีความซับซ้อนมากขึ้น จะสามารถช่วยให้เกษตรกรผลิตเนื้อหมูที่มีคุณภาพดีกว่าเดิมในต้นทุนที่ต่ำลงได้” หลี่เต้อฝา กล่าว พร้อมระบุว่า อาชีพเลี้ยงหมูที่คนจีนเคยมองว่าเป็นงานต่ำต้อย ในตอนนี้ได้พลิกโฉมกลายเป็นงานอันชาญฉลาดที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีแล้ว

เทคโนโลยีเพิ่มคุณภาพ

ไม่ใช่แค่ เจดี ไฟแนนซ์ เท่านั้นที่กำลังรุกเข้าสู่ธุรกิจเกษตรดิจิทัล เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อาลีบาบา ยักษ์อี-คอมเมิร์ซของจีนอีกราย ก็ได้ทำการเปิดตัว อีที แอกริคัลเชอรัล เบรน (ET Agricultural Brain) แพลตฟอร์มด้านการเกษตรที่นำเอไอเข้ามาใช้ เพื่อช่วยให้เกษตรกรเข้าใจ ดูแล และตอบสนองต่อความต้องการของสัตว์ในฟาร์มและพืชผลการเกษตรได้ดียิ่งขึ้น

บิซิเนส อินไซเดอร์ รายงานว่า แพลตฟอร์มนี้ของอาลีบาบาประกอบด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลาย เช่น เทคโนโลยีจดจำภาพและเสียง และเทคโนโลยีเฝ้าสังเกตสิ่งแวดล้อมแบบเรียลไทม์ ซึ่งช่วยในการรวบรวมสายพันธุ์ อายุ เพศ และความเคลื่อนไหวของหมูแต่ละตัว รวมถึงวิเคราะห์การเติบโต ภาวะตั้งครรภ์ และสุขภาพของหมู โดยได้ทดลองใช้กับฟาร์มหมูทั่วประเทศแล้ว

นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังสามารถช่วยวางแผนตารางการออกกำลังกายสำหรับหมูเพื่อปรับปรุงสุขภาพและผลผลิตโดยรวม ด้วยการติดตามระยะทาง ระยะเวลา และความเร็วที่หมูใช้วิ่ง ซึ่งหากหมูตัวใดที่ออกกำลังกายไม่ตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ จะต้องถูกแยกออกไปจนกว่าจะทำตามเป้าสำเร็จ ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยตรวจจับหมูที่เป็นโรค ก่อนที่หมูจะตายหรือเชื้อโรคแพร่กระจายได้

ขณะที่ ไชน่าเดลี ระบุว่า แพลตฟอร์มนี้จะทำให้ผู้บริโภคจีนสามารถเข้าถึงสไตล์การกินอาหารที่มีประโยชน์ได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในจีน

สอดคล้องกับงานวิจัยของ มินเทล บริษัทวิจัยตลาดระดับโลก ที่ชี้ให้เห็นว่าชาวจีนกำลังนิยมผลิตภัณฑ์เนื้อหมูที่มีคิวอาร์โค้ดติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์ เนื่องจากผู้บริโภคจะสามารถสแกนโค้ดเพื่อดูข้อมูลเกี่ยวกับการดูแลหมูและข้อมูลอื่นๆ ได้ทันที

“เราต้องการหมูที่ผ่านการวิ่งมาแล้ว 200 กม. ไม่ใช่หมูที่หนัก 200 กก. ซึ่งปริมาณการออกกำลังกายของหมูนั้นเป็นสิ่งที่สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับคุณภาพของหมู” ไซมอน หู ประธานฝ่ายธุรกิจคลาวด์ของอาลีบาบา กล่าว

ทั้งนี้ อาลีบาบาคาดคะเนไว้ว่า การใช้แพลตฟอร์มนี้จะช่วยเพิ่มผลผลิตรายปีได้ จากการเพิ่มขึ้นของจำนวนลูกหมูเกิดใหม่ และการลดอัตราการเสียชีวิตในลูกหมูแรกเกิดได้ 3%

เดเกน หวัง ประธานบริษัท เต้อซู กรุ๊ป หนึ่งในบริษัทที่อาลีบาบาเข้าไปทดลองใช้แพลตฟอร์มนี้ ระบุว่า แพลตฟอร์มของอาลีบาบาถือเป็นการยกระดับใหม่ให้กับระบบเทคโนโลยีสำหรับฟาร์มหมู เนื่องจากบริษัทมีเป้าหมายเลี้ยงหมูให้ได้ 10 ล้านตัว ภายในปี 2020 ซึ่งเป็นจำนวนมหาศาลเกินกว่าที่ระบบอัตโนมัติใดๆ จะทำได้ แต่แพลตฟอร์มของอาลีบาบาทำให้เป้าหมายของบริษัทเป็นจริงได้ ด้วยการช่วยเพิ่มผลผลิต จัดการฟาร์มอย่างมีประสิทธิภาพ และยกระดับซัพพลายเชน การขาย และโลจิสติกส์

“ในอนาคตเราจะทำให้แพลตฟอร์มนี้สามารถนำไปใช้กับอุตสาหกรรมอื่นๆ นอกเหนือจากฟาร์มหมู ซึ่งรวมถึงป่าไม้และประมง เพื่อช่วยให้บริษัทและเกษตรกรสามารถเพิ่มประสิทธิภาพและพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ได้ อีกทั้งยังเป็นการเสนอทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแก่ผู้บริโภค”หู กล่าว

 

 

เครดิตข้อมูลข่าวโดย :  https://www.posttoday.com

 

 

Leave a Reply